วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

พระจันทร์ครึ่งซีก แก้หืด บำรุงปอด

โรคหืด เป็นโรคชนิดหนึ่งมีคนเป็นกันอย่างกว้างขวาง เมื่อเป็นแล้วจะทรมานมาก หายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อยง่าย ต้องพบแพทย์ดูแลใกล้ชิด ต้องพ่นยาตลอดเวลา จึงจะทุเลาได้ ในอดีตต้องอาศัยสมุนไพรรักษา และสมุนไพรที่มีสรรพคุณแก้หืดมีหลายชนิด ซึ่งพระจันทร์ครึ่งซีก ก็รวมอยู่ด้วย แพทย์แผนไทยและจีนนิยมใช้มาแต่โบราณแล้ว โดยตำราจาจีนระบุว่า ให้เอาต้นสดของพระจันทร์ครึ่งซีก จำนวนพอประมาณตำผสมกับเหล้าโรง 28 หรือ 40 ดีกรีก็ได้ แล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำดื่มครั้งละแก้วเล็ก ๆ เวลาเช้าเย็นก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ หรือจะดื่มตอนที่มีอาการหืด จะช่วยให้ดีขึ้น และยังแก้อาเจียนเป็นเลือด ใช้ผสมทำเป็นยานัตถุ์ได้ดีอีกด้วย



ส่วนตำรายาไทย ใช้ต้นสดที่เป็นยอด่อน ใบและดอกกินประจำ วันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละไม่ต้องมากนัก กินบ่อย ๆ จะช่วยทำให้อาการของโรคหืดดีขึ้น และยังเป็นยาช่วยบำรุงปอด แก้วัณโรคด้วย



พระจันทร์ครึ่งซีก หรือ LOBELIA CHINENSES LOUR. อยุ่ในวงศ์ LOBELIACEAE เป็นไม้ล้มลุก แตกรากตามข้อ ใบเดี่ยวออกสลับ รูปหอก ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ กลีบดอกสีม่วงอ่อน เมื่อบาน กลีบดอกจะเรียงตัวเป็นครึ่งวงกลม เห็นชัดเจน ผล กลม ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียกอีกคือ บัวครึ่งซีก (ภาคเหนือ) และปั้วไปไน้ (จีนแต้จิ๋ว) ปัจจุบัน พระจันทร์ครึ่งซีก มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี บริเวณโครงการ 21 แผงคุณพร้อมพันธุ์ ราคาสอบถามกันเอง




ความรู้เรื่องโรคหืด



โรคหืดเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นผิดปกติ หลอดลมจะหดเกร็งร่วมกับมีการบวมเนื่องจากการอักเสบ และมีการสร้างเสมหะมากกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบแน่น หายใจลำบาก และหายใจมีเสียงวี้ด การหอบอาจเกิดขึ้นเป็นๆหายๆหรือเรื้อรัง อาการมักเกิดในเวลากลางคืน หรือเมื่อมีการสัมผัสสิ่งกระตุ้น นอกจากนี้การอักเสบที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน จะทำให้หลอดลมมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและการทำงานอย่างถาวร (airway remodeling) ทำให้สมรรถภาพปอดของผู้ป่วยต่ำกว่าปกติ


โรคหืดเป็นภาวะที่มีการอักเสบเรื้อรังของทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด ไอและแน่นหน้าอกโดยเฉพาะในช่วงกลางคืนหรือเช้ามืด
โรคหืดนี้ยังไม่มีการค้นพบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค เชื่อว่าเป็นผลประกอบกันระหว่างสิ่งแวดล้อมกับพื้นฐานภาวะภูมิแพ้ของแต่ละบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับลักษณะทางพันธุกรรม การค้นหา ควบคุมและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง เป็นส่วนที่สำคัญมากในการดูแลรักษาโรคหืด เช่น สิ่งกระตุ้นในอาคารบ้านเรือน ได้แก่ ตัวไรฝุ่น ฝุ่นบ้าน ขนสัตว์ แมลงสาบและเชื้อรา สิ่งกระตุ้นนอกอาคาร ได้แก่ มลภาวะ ละอองเกสรพืช ควันบุหรี่ สารเคมีในอาหาร การออกกำลังกาย สารเคมีหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับการประกอบอาชีพ และสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ได้แก่ ไข้หวัดหรือยาบางอย่าง เช่น แอสไพริน
พบโรคหืดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่ โรคหืดก่อให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพชีวิต อาการของโรคจะรบกวนการนอน ทำให้สรรถภาพการทำงานถดถอย อาการแน่นหน้าอกอาจทำให้ผู้ป่วยตกใจ ด้วยเข้าใจว่าเป็นโรคหัวใจ สำหรับในเด็ก พบในเด็กวัยเรียนถึงร้อยละ 12 โรคหืดทำให้ขาดเรียนบ่อย ลดความสามารถในการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติและอาจเกิดปัญหาพัฒนาการเรียนรู้ที่ช้าได้ หากอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้จากสมองขาดออกซิเจน
การวินิจฉัยและการรักษา แพทย์จะอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย ร่วมกับการทดสอบสมรรถภาพปอดซึ่งมีความสำคัญในการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรค ข้อมูลจากการทดสอบจะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้เหมาะสม ในรายที่อาการหรือการตรวจพบไม่ชัดเจน แพทย์จะทดสอบสมรรถภาพปอดก่อนและหลังการให้สารกระตุ้นหลอดลม โรคหืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถรักษาและควบคุมโรคให้ดีได้ คือ ควบคุมอาการให้สงบทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตเป็นปกติสุขและมีสมรรถภาพปอดในระยะยาวให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
การใช้ยารักษาจะเป็นไปอย่างมีขั้นตอน โดยมีขนาดและจำนวนยาที่ใช้มากน้อยตามความรุนแรงของโรค การออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การว่ายน้ำเป็นการช่วยฝึกควบคุมการหายใจให้ดี พร้อมกับมีการออกกำลังกล้ามเนื้อด้วย ผู้ป่วยควรใช้ชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และระมัดระวังอาหารบางอย่างที่กระตุ้นการจับหืด เช่น อาหารทะเล ยาที่ใช้รักษาโรค มี 2 ประเภท คือ ยาควบคุมหรือยาป้องกัน ออกฤทธิ์ในการควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดอาการเฉียบพลัน โดยลดและควบคุมการอักเสบในหลอดลม ซึ่งมีผลในการลดความไวผิดปกติของทางเดินหายใจต่อสิ่งกกระตุ้นผู้ป่วยต้องใช้สม่ำเสมอและในขนาดที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ ยาบรรเทาอาการ ออกฤทธิ์ขยายหลอดลม ช่วยบรรเทาอาการหอบ มีคุณสมบัติทำให้ลดการตีบตัวของหลอดลมในระหว่างที่มีการจับหืดเฉียบพลัน จึงควรใช้เฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น วิธีการใช้ยาที่ดีที่สุด คือ การสูดเข้าทางปาก ซึ่งต้องคอยฝึกหัดและตรวจสอบให้ถูกต้องอยู่เสมอ




รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหืด


โรคหืดเป็นโรคที่พบได้ในทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการตั้งแต่เด็ก ประเทศไทยมีความชุกของโรคหืดร้อยละ 10-12 ในเด็ก และร้อยละ 6.9 ในผู้ใหญ่




การวินิจฉัย


อาศัยประวัติการไอ หายใจหอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ดซึ่งจะเป็นๆหายๆ หรือเกิดอาการชัดเจนเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่นสารภูมิแพ้ ได้แก่ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ แมลงสาบ ควันบุหรี่ การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้น, ยาและสารเคมีบางชนิด เช่น แอสไพริน, การออกกำลังกาย หรือแม้แต่ความเครียดก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการได้ รวมถึงข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ การสัมผัสสิ่งกระตุ้นในอาชีพบางประเภท งานอดิเรกบางอย่าง รวมถึงประวัติครอบครัวเป็นโรคหืด ผิวหนังอักเสบ ภูมิแพ้